ติดต่อเจ้าหน้าที่
เครื่องออกกำลังกาย อุปกรณ์ออกกําลังกาย อุปกรณ์ฟิตเนส
view-th view-en
ตะกร้า 0 ตะกร้าสินค้า

เพิ่มกล้ามสวย เสริมหุ่นลีน แน่น ได้จังหวะสไตล์ยิมนาสติก

เพิ่มกล้ามสวย เสริมหุ่นลีน แน่น ได้จังหวะสไตล์ยิมนาสติก

ไม่ได้เหมาะเฉพาะผู้หญิง ผู้ชายก็เล่นได้ ยิมนาสติกไม่ได้มีดีแค่เป็นกีฬาโลดโผนมหัศจรรย์ แต่ยังจัดเป็นศิลปะการออกกำลังกายที่ผสานความแข็งแรง ยืดหยุ่นและเป็นอิสระไว้ในท่วงท่าที่กวัดไกวอย่างสง่างาม ฟังดูคล้ายคาลิสเทนิค ทว่าเบื้องหลังแนวคิดช่างแตกต่างกว่าจินตนาการ ครั้งนี้เราพร้อมพาผู้อ่านเจาะลึกถึงกีฬายิมนาสติก พร้อมกระบวนท่าสำหรับปั้นหุ่นสวย ลีน แน่น ได้จังหวะทุกการเคลื่อนไหว

‘ยิมนาสติก’ ไม่ได้เป็นแค่กีฬา

แต่ยิมนาสติก (Gymnastics) ยังเป็นการออกกำลังกายที่ผสานกายและจิตอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การควบคุมจิตและสั่งการร่างกายซึ่งรวมมัดกล้ามอันแข็งแรงเคลื่อนไหวได้ยืนหยุ่นเป็นอิสระ ซึ่งสามารถใช้ออกกำลังกายแบบบอดี้เวท หรือใช้อุปกรณ์อื่น เช่น บาร์หรือ Gymnastic Rings ควบคู่กันเพื่อปรับสภาพทางกายภาพทั้งแง่ความคล่องแคล่ว ความแข็งแกร่ง และการประสานระหว่างกันได้ลงตัว โดยทั่วไปยิมนาสติกที่นิยมแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • Artistic Gymnastic: ยิมนาสติกสากลที่เน้นจัดแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ซึ่งวัดสมรรถภาพทางกายหลากหลายด้านทั้งความแข็งแรง ความคล่องตัว ความกลมกลืนต่อเนื่องและสวยงาม
  • Rhythmic Gymnastic: หรืออีกชื่อคือ ‘ยิมนาสติกลีลาประกอบเพลง’ ที่เป็นการผสานกันระหว่างบัลเล่และโมเดิร์นแดนซ์ เน้นความอ่อนตัวและท่วงท่าเคลื่อนไหวที่สวยงามควบคู่กับอุปกรณ์อย่างคล่องตัว
  • Aerobic Gymnastic: เกิดจากท่าออกกำลังกายพื้นฐานซึ่งผสานกับท่าเชียร์ลีดเดอร์ นิยมใช้ฟอร์มเป็นทีมไม่เกิน 5 – 8 คน พร้อมประกอบเพลงงานรื่นเริงสนุกสนาน
  • Acrobatic Gymnastic: พัฒนาจากการเล่นกายกรรมร่วมกับบัลเล่ ซึ่งเน้นความแข็งแรง ความสมดุล และทีมเวิร์กคู่กับเพลงประกอบจังหวะช้า
  • Tumbling: พัฒนาจากกีฬายืดหยุ่นและพื้นฐานยิมนาสติก ซึ่งเน้นการกระโดดตีลังกาเป็นหลัก จึงเน้นใช้การสปริงของข้อเท้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัย
ยิมนาสติดเริ่มต้นมาอย่างไร

ยิมนาสติกเริ่มต้นมาอย่างไร

ยิมนาสติกเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีประวัติอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยคำว่า ‘Gymnastics’ มาจากคำว่า Gymnos ในภาษากรีกซึ่งแปลว่า “To exercise naked” หรือการออกกำลังกายด้วยร่างกายอันเปลือยเปล่า ทั้งนี้ท่วงท่ายิมนาสติกในช่วงแรงจะเน้นที่การตีลังกาและการกระโดดข้ามเป็นหลัก ซึ่งพบการปรากฏใช้ในจีนโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นเช่นเดียวกันทว่าเน้นรูปแบบกายกรรมเป็นหลัก ก่อนผสานการเล่นและพัฒนาด้วยการใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย

ยิมนาสติกช่วยเรื่องอะไร

ยิมนาสติกช่วยเรื่องอะไร

ยิมนาสติกสามารถช่วยคุณได้หลากหลายประการ

  • อัพความแกร่ง: ทั้งส่วนกล้ามเนื้อแขน ขา และแก่นกลางลำตัวให้แข็งแรงทนทานทั้งร่างกาย พร้อมปลดเปลื้องจิตใจให้ปลอดโปร่งสบาย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่ง จาก Asian Exercise and Sport Science Association ในปี 2021 ที่สำรวจเด็กชายหญิงอายุ 9 ขวบโดยเฉลี่ยพบว่า Gymnastic Exercise ช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านอื่น เช่น กระโดดไกล วิ่งระยะประชิดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • เสริมความยืดหยุ่น: พร้อมปรับทรวดทรงตั้งตรงและเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว เสริมความฉับไวของระบบประสาท และเพิ่มระดับ Range of Motions ได้กว้างยิ่งขึ้น เช่น สามารถทำท่าฉีกขาได้
  • เพิ่มสมดุล: ควบคุมบาลานซ์บนร่างกายขณะยืนหรือทรงตัว ทั้งยังช่วยปรับสภาพร่างกายต่อการเ กิดปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) เช่น แขนขากระตุก ช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บจากการหกล้มหรือขาแพลงได้เป็นอย่างดี

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ

แม้ว่ายิมนาสติกจะมีท่าการเล่นที่หลากหลาย ทว่าท้าทายสำหรับหลายคนเนื่องจากต้องฝึกฝนร่างกายและคุ้นชินกับท่วงท่าเป็นอย่างดี เหตุนี้เองที่เราควรเรียนรู้ท่ายิมนาสติกพื้นฐานสำหรับเริ่มออกกำลังกายเพื่อกันอันตรายที่เกิดขึ้น โดยแบ่งท่าเป็น 2 กลุ่ม

ท่าแบบบอดี้เวท

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ ท่าแบบบอดี้เวท Spider-man Against The Wall

1. Spider-man Against The Wall

ประเดิมด้วยท่าง่ายที่หลายคนสามารถทำได้จากที่บ้าน โดยเป็นท่าเริ่มต้นก่อนปูสู่ท่าแขนชันแบบ Handstand กลางอากาศ ทว่าลดความท้าทายด้วยการใช้กำแพงช่วยทรงตัว เพียงเริ่มวางแผนทาบพื้นไปด้านหน้าพร้อมยกลำตัวส่วนล่างทาบขนานกำแพง หัวตั้งตรงล้อกับทุกส่วน ทำเช่นนี้นาน 1 นาทีก่อน Cool down

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ ท่าแบบบอดี้เวท Handstand

2. Handstand

เป็นท่ายิมนาสติกซึ่งต่อยอดความท้าทายหลังฝึกทำ Spider-man Against the wall จนคุ้นชิน ลักษณะท่าทำคล้ายกันทุกอย่าง ทว่าต้องทำกลางอากาศคล้ายท่าเตรียมตีลังกาซึ่งควรมีพื้นยางปูกระแทก รองรับกรณีหกล้ม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำต้องฝึกกล้ามเนื้อแขนให้แข็งแรง ซึ่งช่วยปรับทรวดทรงให้ตั้งตรงร่วมกับแกนกลางลำตัวและส่วนข้างที่แข็งแรงยิ่งขึ้นหากทำอย่างต่อเนื่อง

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ ท่าแบบบอดี้เวท Splits

3. Splits

หรือท่าฉีกขาในตำนานซึ่งช่วยกล้ามเนื้อต้นขาให้เรียวลงร่วมกับเสริมทักษะอื่น เช่น การกระโดดไกล เตะสูง ทั้งยังใช้เป็นท่าฝึกสำหรับต่อยอดท่า Switch Leap กระโดดฉีกขาข้ามกลางอากาศ ซึ่งควรวอร์มอัพยืดสายด้วยท่าแฮมสตริงก่อนเริ่มทำมาอย่างดี เริ่มด้วยท่าคุกเข่าก่อนเริ่มแยกขาที่ถนัดไปด้านหน้าให้ทาบตัวพื้นจนรู้สึกตึงนาน 1 นาทีก่อนพัก อย่างไรก็ตาม การฝึกท่าดังกล่าวควรทำคู่กับเทรนเนอร์ผู้ฝึกเฉพาะด้านมาอย่างดีเพื่อความปลอดภัยตลอดการทำ

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ ท่าแบบบอดี้เวท Boat Hold

4. Boat Hold

หรือท่าแทนตัวเสมือนเรือซึ่งแบกรับสิ่งของไว้กลางลำ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความบาลานซ์แก่แกนกลางลำตัวได้ดี ซึ่งมีผลช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เริ่มด้วยท่านอนราบกับพื้น มือแนบชิดลำตัว ก่อนยกเข่างอเข้าหาอกและใช้แรงจากกล้ามเนื้อแกนกลางดันตัวขึ้นเข้าหาเข่า ทำเช่นนี้ 30 วินาทีจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งสามารถยืดขาให้ตึงตรงขึ้นเพื่อเพิ่มความท้าทายมากขึ้น เมื่อฝึกจนชำนาญจะสามารถต่อยอดไปสู่ท่าที่ใช้อุปกรณ์ได้

ท่าพร้อมอุปกรณ์

ท่าเล่นยิมนาสติกแนะนำ ท่าพร้อมอุปกรณ์

1. L-Sit

L-Sit ถือเป็นท่าที่ใช้รวบยอดจากคาลิสเทนิกซึ่งยังจัดอยู่ในหมวดท่ายิมนาสติกซึ่งต่อยอดจาก Boat Hold ได้อย่างดี ทั้งนี้ผู้ทำสามารถเริ่มต้นกับอุปกรณ์อย่าง Gymnastic Rings และ Olympic Bar ได้ตามต้องการ โดยหากทำอย่างต่อเนื่องจะได้กล้ามเนื้อแขน ขา หลัง ไหล่และแกนกลางครบส่วน

2. Muscle-ups

อีกหนึ่งท่าสำหรับ Gymnastic Rings ที่เริ่มต้นทำได้เองจากบ้าน ด้วยกระบวนท่าเพียง 4 สเต็ป เริ่มแรกให้คว้าจับวงแหวนด้วยท่ายืนตัวตรง ต่อมาให้ดึงตัวเองขึ้นเหนือพื้นในท่าเตรียม จากนั้นจึงเริ่มดึงตัวขึ้นลงคล้ายลักษณะการทำท่า Dip และพักตามจำนวนเซ็ตที่กำหนด

3. Speed Rebound

เป็นท่าที่ควรทำคู่กับเก้าอี้ออกกำลังกาย โดยเริ่มจับที่ด้านข้างเก้าอี้ และจากนั้นให้กระโดดข้ามเก้าอี้มายังโดยที่ซ้าย-ขวามือทั้งที่ยังจับเก้าอี้อยู่ ทำเช่นนี้ 3 เซ็ตตามจำนวนครั้งที่กำหนด โดยช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกข้อต่อ กล้ามเนื้อส่วนขาและแกนกลางลำตัวให้ทำงานประสานกันได้อย่างคล่องแคล่วหากทำเป็นประจำ

 

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในผู้เริ่มต้นยิมนาสติก (Common Mistakes)

การเริ่มต้นฝึกยิมนาสติกมักพบข้อผิดพลาดที่ส่งผลต่อพัฒนาการและความปลอดภัย ข้อผิดพลาดเหล่านี้อาจดูเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาทักษะ ผู้เริ่มต้นควรระวังการละเลยการวอร์มอัพ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บ โดยเฉพาะในท่าที่ต้องใช้ความยืดหยุ่นสูง การรีบร้อนทำท่ายากเกินความสามารถเพียงเพราะเห็นคนอื่นทำได้ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ การไม่ให้ความสำคัญกับท่าพื้นฐานและรีบข้ามไปฝึกท่าที่ซับซ้อน ทำให้ขาดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดหลักที่จำเป็น ส่งผลให้การพัฒนาทักษะในระยะยาวไม่มั่นคง

อีกหนึ่งข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือการพักผ่อนไม่เพียงพอ การฝึกหนักติดต่อกันโดยไม่ให้ร่างกายได้ฟื้นฟู นำไปสู่อาการบาดเจ็บสะสมและความเหนื่อยล้า การฝึกท่าเดิมซ้ำๆ โดยไม่แก้ไขข้อผิดพลาด ทำให้เกิดความเคยชินที่ผิด ยากต่อการปรับแก้ในภายหลัง ที่สำคัญคือการไม่ฟังคำแนะนำของผู้ฝึกสอนหรือพยายามฝึกท่ายากด้วยตนเองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายแล้ว ยังทำให้เสียเวลาในการแก้ไขท่าทางที่ผิดในภายหลัง

โภชนาการสำหรับนักยิมนาสติก

การรับประทานอาหารที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะยิมนาสติก เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ต้องการทั้งความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความอดทนสูง อาหารจึงต้องครบถ้วนทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยสัดส่วนที่เหมาะสมคือ คาร์โบไฮเดรต 55-60% โปรตีน 20-25% และไขมัน 15-20% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน

คาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และควินัว ช่วยให้พลังงานต่อเนื่องระหว่างการฝึก โปรตีนคุณภาพสูงจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นมไขมันต่ำ และถั่วต่างๆ จำเป็นต่อการซ่อมแซมและสร้างกล้ามเนื้อ ไขมันดีจากน้ำมันมะกอก อะโวคาโด และถั่วต่างๆ ช่วยในการดูดซึมวิตามินและการทำงานของระบบประสาท

วิธีป้องกันการบาดเจ็บในกีฬายิมนาสติก

การป้องกันการบาดเจ็บเริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อมของร่างกายอย่างถูกต้อง เริ่มจากการวอร์มอัพที่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะข้อต่อที่ต้องใช้งานมาก เช่น ข้อไหล่ ข้อมือ และข้อเท้า การยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ยืดจนเกินขีดจำกัด การใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เช่น สายรัดข้อมือ แผ่นรองฝ่ามือ และเบาะกันกระแทก ต้องตรวจสอบสภาพและความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

นอกจากนี้ การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีวันพักระหว่างการฝึกหนัก เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นฟู การดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการฝึก ช่วยป้องกันการเกร็งของกล้ามเนื้อ การฟังสัญญาณเตือนจากร่างกาย หากรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายควรหยุดพักทันที ไม่ฝืนทำต่อจนเกิดการบาดเจ็บรุนแรง การทำกายภาพบำบัดหรือนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บสะสม

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยิมนาสติก (FAQ)

1.ยิมนาสติกเหมาะกับมือใหม่หรือไม่?

ยิมนาสติกสามารถเริ่มต้นได้ทุกระดับ แม้ไม่มีพื้นฐานด้านกีฬาใดๆ มาก่อน เพราะการฝึกจะเริ่มจากการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาความยืดหยุ่นและการทรงตัว ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาฝึกฝน ไม่สามารถเร่งรัดได้ แต่ข้อสำคัญคือต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและพัฒนาทักษะได้อย่างถูกต้อง

2.ควรเริ่มเรียนยิมนาสติกเมื่ออายุเท่าไหร่?

ยิมนาสติกไม่จำกัดอายุผู้เริ่มต้น แต่แต่ละช่วงวัยมีข้อควรคำนึงต่างกัน สำหรับเด็กสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 3-4 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความยืดหยุ่นสูงและเรียนรู้ได้เร็ว แต่ต้องเป็นคลาสที่ออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เน้นความสนุกและพัฒนาการตามวัย วัยรุ่นถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มต้น เพราะร่างกายแข็งแรง มีความยืดหยุ่นดี และสามารถเข้าใจเทคนิคต่างๆ ได้ดี ส่วนผู้ใหญ่แม้จะเริ่มช้ากว่า แต่ก็สามารถฝึกได้ โดยควรเลือกคลาสผู้ใหญ่ที่ปรับความเข้มข้นให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย

3.ยิมนาสติกอันตรายไหม?

ยิมนาสติกมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเหมือนกีฬาทุกประเภท แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการเตรียมความพร้อมที่ดี เริ่มจากการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย โดยเฉพาะระบบกระดูกและข้อต่อ การวอร์มอัพอย่างถูกต้องและเพียงพอก่อนการฝึกทุกครั้ง ซึ่งควรใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที เน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย การใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน เช่น เบาะรองกันกระแทก สายรัดข้อมือ และการฝึกภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรอง ที่สำคัญคือต้องไม่ฝืนทำท่าที่เกินความสามารถ และรับฟังสัญญาณเตือนจากร่างกาย หากรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายควรหยุดพักทันที

4.ต้องมีพื้นฐานอะไรก่อนเริ่มเรียนยิมนาสติก?

แม้จะไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านกีฬามาก่อน แต่การมีความพร้อมด้านร่างกายบางประการจะช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันดับแรกคือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง ซึ่งสามารถเตรียมได้ด้วยการฝึกท่าพลังก์ ท่าแพลงค์ด้านข้าง และท่านอนยกขา ต่อมาคือความยืดหยุ่นพื้นฐาน สามารถเตรียมได้ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณขา หลัง และไหล่ นอกจากนี้ การมีความอดทนของระบบหัวใจและปอดที่ดีก็มีส่วนสำคัญ สามารถเตรียมได้ด้วยการวิ่งเหยาะ กระโดดเชือก หรือว่ายน้ำ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือความมุ่งมั่นและวินัยในการฝึกซ้อม เพราะการพัฒนาทักษะยิมนาสติกต้องใช้เวลาและความอดทนสูง

สรุป

เพื่อให้ได้หุ่นสวยสไตล์ยิมนาสติก สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและกระชับ แต่ต้องไม่ดูใหญ่จนเกินไป ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารให้พอดี ไม่อ้วนเกินไป และต้องฝึกฝนท่าทางต่างๆ ของยิมนาสติกเป็นประจำ เพื่อให้ได้ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงที่สมดุล ทั้งนี้ โปรแกรมฝึกและโปรแกรมควบคุมอาหารอาจปรับเปลี่ยนได้ตามเป้าหมายและสภาพร่างกายของแต่ละคนตามคำแนะนำของเทรนเนอร์เเละผู้ฝึกสอน

แหล่งอ้างอิง

  • https://bitly.ws/3avwP
  • https://www.britannica.com/sports/gymnastics


บทความนี้เขียนโดย...


โค้ชปูแน่น

โค้ชปูแน่น (ปู จักรินทร์ บุญลาภ)


เป็น CEO และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทีมเทรนเนอร์ในฟิตเนสของตัวเองที่ Real Gym ซาฟารีเวิลด์ รวมถึงแบรนด์อาหารเสริม และที่ปรึกษาด้าน Training Quality ให้กับทีมเทรนเนอร์ของ Sport club และฟิตเนสชั้นนำ

โปรไฟล์โค้ชปูแน่น

บทความทั้งหมด